เทคนิคจัดโต๊ะ ERGONOMICS สร้างสภาพแวดล้อมทำงานคุณภาพ

May 16, 2023

ใช้เวลาอ่าน 3 นาที

เทคนิคจัดโต๊ะ ERGONOMICS สร้างสภาพแวดล้อมทำงานคุณภาพ

Ergonomics คือการจัดโต๊ะทำงานในออฟฟิศให้ถูกต้องตามหลักการยศาสตร์ จึงเป็นสิ่งสำคัญเพราะโต๊ะทำงานเป็นหนึ่งในสถานที่ที่พนักงานออฟฟิศใช้เวลาอยู่ด้วยมากที่สุด หรือประมาณวันละ 8 ชั่วโมงต่อวัน

ถ้าหากเราจัดโต๊ะทำงานได้ไม่ดี มีสภาพแวดล้อมทำงานที่ไม่เหมาะสม ก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายในระยะยาว และทำให้ประสิทธิภาพการทำงานแย่ลงได้ Siam Okamura พร้อมช่วยคุณเปลี่ยนสภาพแวดล้อมการทำงานในออฟฟิศให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น จะน่าสนใจแค่ไหน ไปดูกัน

การจัดโต๊ะทำงานในออฟฟิศ

ทำความรู้จักกับคำว่า Ergonomics

คือ แนวคิดในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงานให้เหมาะสมกับผู้ปฏิบัติงานแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็น ระยะเวลาการทำงาน ระบบงาน หรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการทำงาน โดยมีเป้าหมายหลักคือ เพื่อส่งเสริมสุขอนามัยที่ดีของผู้ปฏิบัติงาน หลีกเลี่ยงการเกิดอาการบาดเจ็บจากการทำงาน และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ได้มากที่สุด

โต๊ะทำงานที่ดี ควรแบ่งออกเป็น 3 โซนดังนี้

การจัดโต๊ะทำงานในออฟฟิศเป็นส่วนสำคัญ เพราะเป็นบริเวณที่พนักงานออฟฟิศใช้เวลาอยู่ด้วยมากที่สุด ซึ่งคุณสามารถเริ่มต้นทำได้เลยทันที โดยการจัดพื้นที่บนโต๊ะทำงานให้ตรงตามหลักการยศาสตร์ สามารถแบ่งได้ 3 โซน ตามความจำเป็นในการใช้งาน เพื่อเพิ่มความสะดวกในการใช้อุปกรณ์ ช่วยให้มีสมาธิในการทำงาน ทำให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

โซนที่ 1 (Primary Zone)

จะเป็นพื้นที่ที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย ๆ เพียงแค่ขยับ หรือยืดแขนออกไป โดยที่ไม่จำเป็นต้องยกข้อศอกขึ้น เหมาะสำหรับวางอุปกรณ์ที่ต้องใช้งานตลอดเวลาอย่างเมาส์ และคีย์บอร์ด ไม่ควรวางสิ่งของอื่น ๆ ที่บริเวณนี้ เพราะจะทำให้ใช้งานเมาส์และคีย์บอร์ดไม่สะดวก

โซนที่ 2 (Secondary Zone)

จะเป็นพื้นที่ที่ต้องเอื้อมแขนไปหยิบจับ แต่ไม่ต้องเอนตัว หรือแอ่นเอว เหมาะสำหรับวางสิ่งของที่จำเป็นต้องใช้งานบ่อย ๆ เช่น หนังสือ สมุดบันทึก กระดาษจดโน้ต หรืออุปกรณ์เครื่องเขียนต่าง ๆ ซึ่งไม่ควรวางไว้ไกลตัวจนทำให้ต้องเอนตัว หรือแอ่นเอวไปหยิบบ่อย ๆ เพราะจะทำให้ปวดกล้ามเนื้อได้ง่าย

โซนที่ 3 (Third Zone)

จะเป็นพื้นที่ที่ต้องยืดแขน ร่วมกับเอนตัว หรือแอ่นเอว ถึงจะสามารถหยิบจับสิ่งของนั้นได้ เหมาะสำหรับเก็บสิ่งของที่ใช้ชั่วคราว หรือสิ่งของที่ไม่ค่อยได้ใช้งาน เพราะจะช่วยลดการทำท่าเอนตัว หรือแอ่นเอวที่ทำให้เสี่ยงเกิดอาการปวดกล้ามเนื้อและออฟฟิศซินโดรมได้ง่ายกว่าปกติ

third-zone

จัดโต๊ะทำงานในออฟฟิศอย่างไรให้ถูกตามหลัก Ergonomics

นอกจากการแบ่งโซนพื้นที่ของโต๊ะทำงานแล้ว ยังมีรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ในแต่ละส่วนที่ต้องให้ความสำคัญ ซึ่งเราได้รวบรวมข้อมูลมาให้แล้ว ดังนี้

1. โต๊ะทำงาน

โต๊ะทำงาน หรือโต๊ะออฟฟิศที่ดีนั้น จะต้องมีขนาดความสูง ความกว้าง และความยาวที่ได้มาตรฐาน โดยควรมีความสูงประมาณ 70 – 80 เซนติเมตร เพื่อที่จะช่วยให้สามารถนั่งทำงานได้สบาย ๆ โดยที่ไม่ต้องยกไหล่ เกร็งกล้ามเนื้อ เท้าลอย หรือต้องนั่งชันเข่า และพื้นโต๊ะก็ควรมีขนาดประมาณ 60 – 80 เซนติเมตรขึ้นไป เพื่อที่จะได้วางสิ่งของได้อย่างสะดวก และทำให้ไม่ต้องวางจอคอมพิวเตอร์ใกล้สายตาจนเกินไป ซึ่งจะทำให้ปวดตา ปวดศีรษะได้ง่ายกว่าปกติ

2. เก้าอี้ทำงาน

สำหรับเก้าอี้นั่งทำงานนั้น ควรเลือกใช้เก้าอี้ Ergonomics โดยเฉพาะ เพราะเก้าอี้เหล่านี้จะถูกออกแบบมาให้สามารถรองรับสรีระร่างกายได้อย่างถูกต้อง และมีฟังก์ชั่นที่สามารถปรับแต่ง เพื่อให้เข้ากับสรีระร่างกายของเรามากที่สุด เช่น เบาะนั่งที่ปรับระดับความสูงได้ ปรับความลึกของเบาะได้ ระบบเอนพนักพิงพร้อมตัวล็อค หรือที่พักแขนที่ปรับได้หลายทิศทาง

3. ท่านั่งที่ถูกต้อง

ท่านั่งที่ถูกต้อง นอกจากการเลือกใช้โต๊ะทำงานและเก้าอี้นั่งทำงานแล้ว การจัดท่านั่งทำงานให้ถูกต้องตามหลักการยศาสตร์ก็เป็นอีกส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้เลย เพราะถ้าหากนั่งทำงานด้วยท่าทางที่ไม่เหมาะสม ต่อให้เลือกโต๊ะ หรือเก้าอี้ทำงานคุณภาพมากแค่ไหน ก็ไม่ทำให้เกิดประโยชน์อยู่ดี โดยท่านั่งทำงานที่ถูกต้อง มีลักษณะดังนี้

  • นั่งเต็มก้น และหลังตรง
  • ตั้งคอตรง ไม่ก้มหน้า และยืดไหล่
  • ปรับเก้าอี้ให้มีความสูงสมดุลกับโต๊ะทำงาน โดยปลายเท้าจะต้องวางบนพื้นได้ และสายตาพอดีกับหน้าจอ ไม่ต้องก้มคอทำงานอยู่ตลอดเวลา
  • ข้อศอกจะต้องตั้งฉากได้ 90 องศา สามารถวางแขนให้ขนานกับโต๊ะ และใช้งานคีย์บอร์ด หรือเมาส์โดยที่ไม่ต้องยกไหล่
  • นั่งให้ระยะห่างระหว่างสายตากับจอภาพ ห่างกันประมาณ 12 – 18 นิ้ว เพื่อลดผลกระทบจากการใช้งานคอมพิวเตอร์
  • ในกรณีที่เก้าอี้ลึกเกินตัว สามารถหาหมอนหนุนมาช่วยให้หลังตรงขณะนั่งได้

 

4. แสงสว่างของสถานที่

แสงสว่างของสถานที่ทำงานเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญที่ต้องให้ความสำคัญไม่แพ้กัน โดยควรเลือกใช้แสงสว่างประมาณ 400 – 600 ลักซ์ เพื่อให้สามารถมองเห็นทุกอย่างได้อย่างชัดเจน ไม่ควรทำงานในที่มืด หรือสว่างจ้า เกินไป เพราะจะทำให้สายตาเสีย รู้สึกเบื่อหน่าย ไม่กระฉับกระเฉง หรือปวดศีรษะได้

เก้าอี้ทำงาน
เป็นอย่างไรกันบ้างกับเทคนิคดี ๆ ที่เรานำมาแนะนำในบทความนี้ หวังว่าจะช่วยคลายข้อสงสัยและช่วยให้คุณสามารถจัดโต๊ะทำงานในออฟฟิศให้ถูกต้องมากยิ่งขึ้น เพื่อการดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ป้องกันการเกิดโรคออฟฟิศซินโดรมในระยะยาว และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

Tags: